คุยกับไทย เอ็นเอสฯ

สถานการณ์จริงในประเทศไทยเกี่ยวกับโปรเจกต์ในการติดตั้ง MES (No.1)

ระบบ MES คืออะไร?

คอลัมในครั้งนี้จะขอกล่าวถึงระบบ MES ซึ่งเป็นระบบที่มีหน้าที่สำคัญในการผลิตที่หน้างาน

MES (Manufacturing Execution System) คือ “ระบบการดำเนินการผลิต” ที่ช่วยซัพพอร์ตหรือสั่งการบุคลากรที่หน้างาน และช่วยในด้านการจัดการและติดตามกระบวนการผลิต กล่าวคือ เป็นระบบที่คอยควบคุมการจัดการข้อมูลของโอเปอเรชันการผลิตซึ่งเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนการผลิตที่หน้างานโดยตรง

เลเยอร์ในการจัดการงานด้านการผลิตนั้นแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับการวางแผน ระดับการปฏิบัติการ และระดับการควบคุม

สำหรับระดับการวางแผนซึ่งนับเป็นเลเยอร์ระดับบนนั้น มีหน้าที่ซัพพอร์ตงานที่เป็นหัวใจหลักอย่างการควบคุมการซื้อขาย การวางแผนการผลิต (การวางแผนในระดับหลักเดือนหลักปี) การจัดการทางด้านบัญชี ฯลฯ โดยระบบที่เป็นเสมือนตัวแทนของระบบที่ทำหน้าที่ดังกล่าวก็คือ ERP (Enterprise Resource Planning)

ส่วนระดับการควบคุมซึ่งนับเป็นเลเยอร์ระดับล่างนั้น มีหน้าที่ซัพพอร์ตงานเกี่ยวกับการควบคุมดูแลและสั่งการอุปกรณ์ทางการผลิต หรืออุปกรณ์สำหรับตรวจสอบโดยตรง โดยระบบที่เป็นเสมือนตัวแทนของระบบที่ทำหน้าที่ดังกล่าวก็คือ PLC (Program Logic Controller) หรือระบบควบคุมแบบกระจาย DCS (Distributed Control System) และเลเยอร์ที่คั่นกลางระหว่างเลเยอร์ทั้งสองและมีหน้าที่เชื่อมทั้งสองเลเยอร์เข้าด้วยกันก็คือ เลเยอร์ในระดับการปฏิบัติการ ซึ่ง MES เป็นระบบที่ทำหน้าที่ในส่วนนี้

ถ้าอย่างนั้นแล้ว MES มีการทำงานแบบที่เป็นรูปอธรรมอย่างไรบ้าง? MESA international ซึ่งเป็นสมาคมของอเมริกาที่กำหนดมาตรฐานของ MES ได้ให้คำจำกัดความและแบ่งประเภทฟังก์ชันการทำงานของ MES ออกเป็น 11 ฟังก์ชันดังต่อไปนี้

  1. การตรวจสอบสถานะและการจัดสรรทรัพยากร (Resource Allocation & Status)
  2. การปฏิบัติการ/การวางแผนโดยละเอียด (Operation/Detailed Scheduling)
  3. การส่งงานเข้าสู่ช่วงการผลิต (Dispatching Production Units)
  4. การจัดการเอกสาร (Document control)
  5. การรวบรวมและจัดเก็บข้อมูล (Data collection)
  6. การบริหารงานบุคคล (Labor Management)
  7. การจัดการคุณภาพการผลิต (Quality Management)
  8. การจัดการกระบวนการผลิต (การจัดการคุณภาพของขั้นตอนการผลิต) (Process Management)
  9. การจัดการบำรุงรักษาและซ่อมบำรุงอุปกรณ์การผลิต (Maintenance Management)
  10. การติดตามประวัติของผลิตภัณฑ์และลำดับผังของผลิตภัณฑ์ (Product Tracking & Genealogy)
  11. การวิเคราะห์ประสิทธิภาพ (Performance Analysis)

การนำฟังก์ชันการใช้งานดังกล่าวของ MES มาใช้ให้เกิดประโยชน์ตามความเหมาะสม จะช่วยให้เราสามารถจัดการดูแล ปรับปรุง และสร้างประสิทธิภาพให้กับหน้างานได้ทั้งในแง่ของคุณภาพ (Quality) ราคา (Cost) และการส่งมอบสินค้า (Delivery)

ในระหว่างที่ฐานการผลิตกำลังขยายเพื่อมุ่งสู่ระดับสากลภายใต้สถานการณ์ COVID-19 การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้นโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด กลายเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการผลิตที่หน้างาน และสำหรับในประเทศไทยเอง ลูกค้าที่เริ่มพิจารณาการนำระบบ MES ไปใช้งานก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

01-02-2021